แม่บ้านเงินล้าน เงินเดือนหมื่นนิด เก็บเงินอย่างไรให้ได้ล้าน

เรื่องที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ ผมได้ยินมานานมากแล้ว น่าจะร่วมสิบปีเห็นจะได้
เป็นเรื่องราวของ "พี่หนู" ปาริชาติ พงษ์คำ พนักงานทำความสะอาด ประจำห้องสมุดมารวย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
พี่หนูเป็นคนศรีสะเกษ ตั้งแต่เกิดก็ช่วยพ่อแม่ทำนา จบชั้น ป.6 เข้ากรุงเทพฯ มาทำงานเป็นแม่บ้านตามบ้าน กินอยู่กับนาย
รับเงินเดือนครั้งแรกในชีวิต 700 บาท ส่งให้พ่อแม่ใช้ทั้งหมด ไม่เก็บไว้เลยแม้แต่บาทเดียว 
พี่หนูบอกว่าตัวเองโชคดี ได้เจ้านายใจดีช่วยสอนเรื่องการเก็บออมเงิน นั่นคือจุดเริ่มต้น 
ต่อมาในปี 2544 หลังจากแต่งงานมีครอบครัว ก็ได้มาทำงานที่ห้องสมุดมารวย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
พี่หนูบอกว่าอยู่ที่ตลาดหลักทรัพย์เป็นอะไรที่ดีมากๆ มีเบี้ยขยัน มีคูปองอาหารให้ ประกอบกับพี่เขาขยัน ทำงานดี ไม่เคยขาด ไม่เคยสาย สิ้นปีจึงได้โบนัสทุกครั้ง เงินเดือนก็ขึ้นทุกปี
พี่หนูเป็นคนมีวินัยในการเก็บออมมากๆ สมัยก่อนได้ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 165 บาท แต่สามารถฝากเงินเข้าแบงก์ขั้นต่ำ 5,000 บาททุกเดือน ไม่มีต่ำกว่านั้น 
ต่อมา ค่าแรงขึ้นเป็นวันละ 300 แกก็ออมเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 10,000 บาท
พี่หนูบอกว่า แกไม่เคยมีปัญหาทางการเงิน เพราะเป็นคนที่รู้จักวางแผน คิดล่วงหน้า 5-10 ปีเสมอ
แกย้ำว่า "วินัย" สำคัญที่สุด
ครั้นเก็บเงินได้ประมาณ 4-5 แสน ก็ปรึกษากับเจ้าหน้าที่ห้องสมุดมารวยว่าอยากได้ผลตอบแทนมากกว่าการฝากแบงก์ จึงได้รับคำแนะนำให้เอาเงินนั้นไปลงทุนในกองทุนรวม นั่นคืออีกก้าวของการลงทุน
ที่น่าสนใจก็คือ พี่หนูบอกว่าแกโชคดีมากที่ได้ทำงานในห้องสมุดมารวย จึงหยิบหนังสือมาอ่านอยู่เสมอ อีกทั้งยังมีสัมมนาการลงทุนจัดอยู่เรื่อยๆ แกก็ได้ฟัง ได้ซึมซับ แล้วเอามาปฏิบัติตาม
กองทุนที่พี่หนูลงทุน เป็นกองทุนรวมหุ้น แกบอกด้วยว่า จะลงมากหรือน้อย ต้องดูดัชนี SET และผลประกอบการของบริษัทควบคู่ไปด้วย 
นอกจากนี้ยังแบ่งเงินส่วนนึงไว้ลงทุนในตราสารหนี้เพื่อความปลอดภัย แต่เน้นกองทุนหุ้น เพราะอยากได้ผลตอบแทนที่สูงกว่า และกำลังเล็งที่จะลงทุนในทองคำ
*** หลังจากลงทุนมา 17 ปี พี่หนูมีความมั่งคั่งจากการเก็บออมและลงทุนมากกว่า “หนึ่งล้านบาท” เข้าไปแล้ว และยังคงลงทุนต่อไปไม่มีแผนจะหยุด 
เมื่อถูกขอให้ฝากข้อคิดทางการเงิน พี่หนูบอกว่า ต้องวางแผนการเงินตั้งแต่อายุยังน้อยๆ แล้วจะมีโอกาสรวยได้ และสำคัญที่สุดคือ ต้องมี “วินัย”
เวลาเงินเดือนออก ให้แยกไว้เลยแล้วเอาไปลงทุน อย่าเก็บไว้กับตัว ไม่งั้นจะใช้ออกไปง่ายๆ
มีน้อยก็ออมน้อย มีมากก็ออมมาก ให้เริ่มจากน้อยไปหามาก อย่าดูถูกเงินน้อยๆ เดือนละพันเดียวหรือแม้แต่เดือนละร้อยเดียวก็ยังออมได้
“ถ้ามีวินัย รับรองว่าไม่มีทางจน” พี่หนูยืนยัน
เรื่องราวของพี่หนู คือเรื่องจริงไม่อิงนิยายของคนธรรมดาๆ คนหนึ่งซึ่งสร้างความมั่นคงทางการเงินขึ้นมา จากต้นทุนที่เป็น “ศูนย์” 
เป็นเรื่องราวที่จับต้องได้ ไม่ต้องดราม่า ไม่ต้องหล่อ ไม่ต้องสวย ไม่ต้องเท่
สังคมไทยในช่วงหลังๆ มีคนพยายามสร้างภาพฝันให้คนอื่น โดยเฉพาะ “คนรุ่นใหม่” ทำตาม 
บางคนบอกประมาณว่า ตัวเองเคยผ่านจุดที่แย่อย่างโน้นอย่างนี้ เคยเครียดถึงขนาดขับรถไปสนามบินแล้วจิ้มซื้อตั๋วเครื่องบิน บินไปแบบไร้จุดหมาย 
... ยิ่งบอกว่าตัวเองเคยลำบากแค่ไหน ยิ่งทำให้ภาพความสำเร็จดูยิ่งใหญ่ขึ้น
ยังไม่นับพวกดาราแชร์ลูกโซ่ โพสต์บ้านหรูรถหรูลงไอจี หลอกคนแบบไร้ยางอาย
สุดท้ายก็ลงเอยคล้ายๆ กัน คือพาชาวบ้านไปเจ๊ง เข้ารกเข้าพง
หลังจากเห็นคนขาดทุนกันระเนระนาดในช่วงหลังๆ ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่เราจะตั้งคำถามว่า 
"คนประเภทไหนกันหรือ ที่สังคมการลงทุนไทยควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง”
“คนประเภทไหนกันหรือ ที่สื่อควรให้พื้นที่ ยกย่องเชิดชู และนำเสนอเรื่องราว"
หวังว่าเงินทองของคนจำนวนมาก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ต้องสูญไปในครั้งนี้ จะเป็นบทเรียนให้แก่พวกเขา 
รวมทั้งช่วยทำให้ใครหลายๆ คนฉุกคิดขึ้นมาได้บ้าง ว่าเราเองล้วนสามารถทำให้สังคมนี้ดีขึ้นหรือแย่ลงได้ด้วยมือของเรา
(ฟังเรื่องของพี่หนูฉบับเต็ม ทางคลิปสัมภาษณ์ช่อง TPBS ได้ที่นี่ครับ https://www.youtube.com/watch?v=4BcWzQ9MK7g )
โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

0 ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

view all comments
แสดงความคิดเห็นที่นี่ กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยข้อความสุภาพ และให้เกียรติผู้เขียนบทความ